ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสหกรณ์
“สหกรณ์” (Cooperatives)
สหกรณ์ คือ “ องค์การของบรรดาบุคคล ซึ่งรวมกลุ่มกันโดยสมัครใจในการดำเนินวิสาหกิจที่พวกเขาเป็นเจ้าของร่วมกัน และควบคุมตามหลักประชาธิปไตย เพื่อสนองความต้องการ ( อันจำเป็น ) และความหวังร่วมกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม”
“สหกรณ์” ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542
ดังนั้น สหกรณ์จึงตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แก้ปัญหาในด้านการทำมาหากินที่เหมือน หรือคล้ายๆ กัน หรือความต้องการบริการที่เหมือนกันและเป็นปัญหาที่สมาชิกแต่ละคนไม่สามารถแก้เองได้ตามลำพัง หรือตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการ ให้สมาชิกได้รับประโยชน์ในการประกอบอาชีพของตนมากกว่าที่แต่ละคนเคยได้จากการดำเนินกิจการเองตามลำพัง
สถานภาพสหกรณ์
สหกรณ์เกิดขึ้นได้ เมื่อมีการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ต่อนายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น
เมื่อจดทะเบียนแล้ว สหกรณ์มีสถานภาพเป็น “นิติบุคคล”
สหกรณ์เป็นนิติบุคคลในภาคเอกชน ไม่สังกัดส่วนราชการใดๆ
ทำไมต้องมีการจัดตั้งสหกรณ์
สหกรณ์เป็นที่รวมของผู้มีปัญหาคล้ายๆ กัน คนที่รู้ปัญหาดี คือ ตัวผู้มีปัญหานั่นเอง ฉะนั้น การแก้ปัญหาได้ดีที่สุดก็คือการรวมคนที่มีปัญหานั้นมาช่วยกันแก้ไข
สหกรณ์เป็นองค์การที่มีกฎหมายรองรับ เป็นนิติบุคคลที่ถาวร เป็นอิสระ มีส่วนราชการเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนตามความจำเป็น
สหกรณ์มีวิธีการแบ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยธรรม เป็นแบบของสหกรณ์โดยเฉพาะ มีลักษณะที่สมาชิกเป็นเจ้าของ และผู้ใช้บริการในขณะเดียวกัน
ประโยชน์ที่จะได้รับจากสหกรณ์ มีดังต่อไปนี้
การรวมกันเป็นสหกรณ์ ทำให้มีผลในการต่อรองทั้งในด้านการซื้อและการขายสินค้า ที่สมาชิกผลิตได้ และฝึกคนให้รู้จักการพึ่งตนเอง
ทำให้ชุมชนมีความสามัคคี ปรองดอง อันจะนำความเจริญมาสู่ประเทศชาติได้ สหกรณ์ส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการอยู่ร่วมกันโดยสันติ การสหกรณ์เป็นวิธีการที่อุ้มชูผู้ที่ยากจนให้มีฐานะดีขึ้น โดยมิได้ทำลายคนมั่งมี จึงมีลักษณะเป็นสันตินิยมหรือส่งเสริมสันติภาพ
สหกรณ์เป็นแหล่งจัดหาเงินทุนมาให้สมาชิกกู้ยืมไปลงทุนในการประกอบอาชีพหลัก
สหกรณ์ช่วยส่งเสริมความรู้ด้านการประกอบอาชีพแก่สมาชิก เช่น แนะนำให้สมาชิกรู้จักพัฒนาการผลิตด้วยวิธีการเกษตรสมัยใหม่ จำหน่ายผลผลิตให้ได้ในราคาสูงขึ้น เป็นต้น
ส่งเสริมความเสมอภาคกันและเป็นประชาธิปไตย โดยให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ในการออก เสียงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์
สหกรณ์ฝึกคนให้มีความรู้ ประสบการณ์ รู้จักการประหยัดทรัพย์และสนับสนุนด้านเงิน ทุน การผลิต ควบคุมการใช้เงินทุนให้เป็นไปตามแผน รวมกันซื้อปัจจัยการผลิตและรวมกันขายผลิตผล ทำให้คนในชุมชนนั้นๆ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
การดำเนินงานของสหกรณ์
สหกรณ์ดำเนินกิจการภายใต้กรอบแห่งกฎหมายทั้งปวง แต่ต้องไม่ขัดกับข้อบังคับสหกรณ์และพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดให้สหกรณ์มีอำนาจกระทำการตามวัตถุประสงค์ ดังนี้
ดำเนินธุรกิจการผลิต การค้า การบริการ และอุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ของสมาชิก
รับฝากเงินประเภทออมทรัพย์ หรือประเภทประจำจากสมาชิก หรือสหกรณ์อื่นได้ตามระเบียบสหกรณ์
จัดให้ได้มา หรือจำหน่ายไป ซึ่งกรรมสิทธิ์ หรือทรัพยสิทธิในทรัพย์สินโดยหลักแห่งนิติกรรมและสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ให้กู้ ให้สินเชื่อ ให้ยืม ให้เช่า ให้เช่าซื้อ รับจำนอง หรือรับจำนำ ซึ่งทรัพย์สินแก่สมาชิก หรือของสมาชิก
ให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงินได้ตามระเบียบของสหกรณ์
ให้สวัสดิการหรือการสงเคราะห์แก่สมาชิกและครอบครัว
ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่สมาชิก
ขอหรือรับความช่วยเหลือทางวิชาการจากทางราชการ หน่วยงานของต่างประเทศ หรือบุคคลอื่น
ดำเนินการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับหรือเนื่องในการจัดการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
โครงสร้างของสหกรณ์
สหกรณ์ตั้งอยู่บนรากฐานของประชาธิปไตย สมาชิกทุกคนเป็นเจ้าของสหกรณ์ แต่ทุกคนไม่สามารถร่วมบริหารกิจการของสหกรณ์ได้ จึงต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการเป็นผู้บริหารงานแทน ซึ่งตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 กำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการไม่เกิน 15 คน มีอำนาจหน้าที่ เป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการทั้งปวง
เพื่อให้กิจการสหกรณ์ดำเนินการอย่างกว้างขวาง และให้บริการแก่สมาชิกอย่างทั่วถึง คณะกรรมการดำเนินการควรจัดจ้างผู้จัดการที่มีความรู้ความสามารถมาดำเนินธุรกิจแทน และผู้จัดการ อาจจัดจ้างเจ้าหน้าที่โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือกิจการสหกรณ์ด้านต่างๆ ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงปริมาณธุรกิจและการประหยัดเป็นสำคัญ
สิทธิพิเศษของสหกรณ์
สหกรณ์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน สำหรับการได้มา การจำหน่าย การยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ หรือการยึดหน่วง ซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวเนื่องอสังหาริมทรัพย์
สหกรณ์ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
เอกสารที่สหกรณ์ทำขึ้นบางอย่างได้รับการยกเว้นไม่เสียค่าอากรแสตมป์
ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับสหกรณ์
ปัจจัยจำเป็นที่จะทำให้สหกรณ์ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน คือ
1. ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกสหกรณ์และกรรมการดำเนินการ ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในหลักการสหกรณ์สหกรณ์เป็นการรวมคน ดังนั้นคนที่มารวมกันจำเป็นต้องเข้าใจถึงความมุ่งหมาย ในการรวมกัน รู้ถึงสิทธิและหน้าที่ รวมทั้งหลักและวิธีการสหกรณ์จึงจะทำให้ดำเนินกิจการได้โดยราบรื่น มีความมั่นคงและเข้มแข็ง สามารถอำนวยประโยชน์ให้สมาชิกได้สมความมุ่งหมาย ดังนั้น ควรอบรมให้บุคคลที่จะมารวมกันตั้งสหกรณ์รู้เรื่องดังกล่าวด้วย
2. ทุนดำเนินงานสหกรณ์ ทุนดำเนินงานได้มาจากค่าหุ้น เงินรับฝาก เงินกู้ยืม เงินช่วย เหลือจากบุคคลอื่นๆ และกำไรที่สะสมไว้ ผู้ริเริ่มตั้งสหกรณ์จึงควรประมาณการไว้ว่าจะได้เงินทุนเป็นจำนวนเท่าใด จะได้มาจากไหน และถ้าไม่เพียงพอจะหาเพิ่มเติมได้โดยวิธีใด
3. ปริมาณธุรกิจที่เพียงพอ สหกรณ์ต้องมีรายจ่ายจากการดำเนินธุรกิจ รายจ่ายบาง ประเภทคงที่ไม่ว่าจะทำธุรกิจมากน้อยเท่าใด เช่น เงินเดือน ค่าสึกหรอ เป็นต้น ดังนั้น สหกรณ์จะต้องทำธุรกิจให้มาก พอจนมีรายได้คุ้มกับรายจ่าย ผู้ริเริ่มตั้งสหกรณ์จึงต้องประมาณดูว่าสหกรณ์สมควรทำธุรกิจกับสมาชิกในด้านไหนมากน้อยเพียงใด ตลอดจนการโฆษณาเชิญชวนหรือชักชวนให้สมาชิกมาทำธุรกิจกับสหกรณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
4. ผู้จัดการสหกรณ์ สหกรณ์ต้องทำธุรกิจ ต้องมีผู้รับผิดชอบการดำเนินงานและควบคุม กิจการของสหกรณ์อย่างใกล้ชิด ผู้จัดการสหกรณ์ต้องทำงานให้สหกรณ์เต็มเวลา ควรมีประสบการณ์ ในการดำเนินธุรกิจ มีความสามารถซื่อสัตย์ ขยันขันแข็ง และมีความรู้ในหลักการวิธีการสหกรณ์ ผู้ริเริ่มตั้งสหกรณ์จึงจำเป็นต้องพิจารณาคัดเลือกหาคนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมมาปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสหกรณ์
5. ความต้องการของกลุ่มบุคคลที่จะรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ จะต้องเป็นความต้องการที่แท้จริง ของกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเป็นสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เขาเหล่านั้นไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพัง สหกรณ์ที่ตั้งขึ้นโดยมีปัจจัยต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว จะสามารถดำเนินกิจการต่อไป ได้ถูกต้อง และตั้งอยู่บนพื้นฐานอันมั่นคงสืบไป
สิทธิของสมาชิกสหกรณ์
สิทธิ คือ อำนาจของบุคคลที่กฎหมายคุ้มครองสำหรับในสหกรณ์นั้น สิทธิ คือ อำนาจของสมาชิกที่จะกระทำการใดๆ ได้ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ข้อบังคับหรือระเบียบของสหกรณ์ ดังเช่น
1. เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น และความต้องการของตนต่อที่ประชุมใหญ่ ตลอดจนสามารถซักถามข้อข้องใจสงสัย ข้อเสนอแนะ และออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ได้เท่าเทียมกัน คือ หนึ่งคนต่อหนึ่งเสียง จะมอบให้คนอื่นออกเสียงแทนไม่ได้
2. ออกเสียงเลือกตั้งกรรมการดำเนินการ และมีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการดำเนินการ ในที่ประชุมใหญ่ได้
3. สอบถามการดำเนินงานของสหกรณ์ จากคณะกรรมการดำเนินการหรือจากเจ้าหน้าที่ ของสหกรณ์ได้ เสมอ รวมทั้งมีสิทธิที่จะขอตรวจดูเอกสารและรายงานการประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวกับสหกรณ์ได้ ตามที่ข้อบังคับกำหนด
จะเห็นได้ว่า สมาชิกสหกรณ์มีความสำคัญต่อความสำเร็จ หรือความล้มเหลวของสหกรณ์เป็นอย่างมาก สมาชิกเป็นทั้งเจ้าของและลูกค้าของสหกรณ์ จึงต้องควบคุมดูแลกิจการของสหกรณ์ด้วย สมาชิกต้องสนใจใช้สิทธิของตนอย่างเต็มที่ ทั้งในด้านเข้าไปมีส่วนในการดำเนินงานของสหกรณ์ และทำธุรกิจ กับสหกรณ์อย่างแข็งขันด้วยความสามัคคีสหกรณ์จึงจะเจริญก้าวหน้า มิฉะนั้นแล้ว สหกรณ์จะประสบความ ล้มเหลวในที่สุด
หน้าที่ของสมาชิก
หน้าที่ คือ สิ่งที่สมาชิกสหกรณ์จะต้องปฏิบัติหรือกระทำตาม หากไม่ปฏิบัติตามหน้าที่แล้ว สมาชิกสหกรณ์ย่อมจะมีความผิด ซึ่งอาจจะถูกลงโทษหรือบางครั้งอาจจะทำให้สหกรณ์ไม่เจริญเท่าที่ควร หรือสมาชิกจะเสียประโยชน์ทั้งส่วนตัวและส่วนรวมด้วย หน้าที่ของสมาชิก มีดังนี้
1. ปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ และมติที่ประชุมใหญ่
2. เข้าร่วมประชุมทุกๆ ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมใหญ่ของสหกรณ์ เพราะทำให้สมาชิกได้ทราบถึงผลการดำเนินงานของสหกรณ์
3. มีความสามัคคีกลมเกลียว ซื่อสัตย์ และเสียสละเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม
4. ให้ความร่วมมือส่งเสริมกิจการสหกรณ์ โดยถือหุ้นเพิ่มขึ้น หรือฝากเงินเพิ่ม หรือใช้บริการของสหกรณ์
5. ควบคุมดูแลกิจการของสหกรณ์ โดยเสนอข้อคิดเห็นในที่ประชุมใหญ่ เลือกสมาชิกที่ดีและเหมาะสมเป็นกรรมการของสหกรณ์
6. เลือกผู้ตรวจสอบกิจการ เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์
7. ประพฤติตนในทางที่ถูกที่ควร เป็นต้นว่า มีใจกว้างยอมรับวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยให้สหกรณ์ก้าวหน้า
8. ทำธุรกิจกับสหกรณ์ด้วยความภักดี พยายามสนใจและใช้บริการของสหกรณ์และชักชวนคนอื่นให้เข้ามาเป็นสมาชิกสหกรณ์
จะเห็นได้ว่า การที่สหกรณ์จะเจริญรุ่งเรือง สามารถให้บริการสมาชิกได้สมความมุ่งหมายที่ตั้งไว้นั้น สมาชิกมีบทบาทที่สำคัญมาก สมาชิกจึงควรใช้สิทธิปฏิบัติหน้าที่ให้เต็มที่และถูกต้อง
สหกรณ์บริหารจัดการอย่างไร
เมื่อนายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์แล้ว สหกรณ์มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยสมบูรณ์ สามารถบริหารจัดการองค์กรได้ตามที่กำหนดในข้อบังคับและกฎหมาย มีคณะกรรมการดำเนินการส หกรณ์ เป็นผู้แทน สหกรณ์ใช้อำนาจหน้าที่บริหารจัดการภายในองค์กรสหกรณ์และในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภาย นอก สามารถแบ่งการบริหารจัดการเป็น 2 ระยะ ดังนี้
ระยะชั่วคราว
คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่และสิทธิเสมือนเป็นคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์นั้น กล่าวคือ เป็นผู้แทนของสหกรณ์ดำเนินกิจการได้โดยชอบ
บุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิก ได้สิทธิเป็นสมาชิกของสหกรณ์นั้น นับแต่วันรับจดทะเบียนสหกรณ์ และได้ชำระค่าหุ้นตามจำนวนที่จะถือครบถ้วน
ภายใน 90 วัน นับแต่วันรับจดทะเบียนสหกรณ์ คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ต้องนัดสมาชิกประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ตามที่กำหนดในข้อบังคับสหกรณ์และคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ต้องมอบหมายการงานทั้งปวงให้กับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์
ระยะถาวร
หลังจากคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ได้รับมอบหมายการดำเนินงานจากคณะผู้จัดตั้งสหกรณ์แล้ว สหกรณ์ดำเนินกิจการอย่างถาวรสืบต่อไป จนกว่าจะเลิกสหกรณ์
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสตูล
เลขที่ 1 ถนนภูมีจรดล ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล รหัสไปรษณีย์ 91000
โทรศัพท์ 0 7474 0470 โทรสาร 0 7471 1202 E-mail:
Facebook : https://www.facebook.com/coopsatun
Line ID : coopsatun
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ.2565 Copyright © 2022 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสตูล
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ freepik.com , flaticon.com